วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การประสมวงดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้


วงมโหรีอีสานใต้
      ประวัติความเป็นมา
     เป็นการละเล่นประกอบดนตรีที่ได้รับการสืบทอดมาแต่โบราณ และนับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นที่นิยมอย่างมาก และถือได้ว่าเป็นวงดนตรีที่เป็นพื้นฐานในการละเล่นอย่างอื่น ๆ เช่น อาไย กะโนบติงต็อง กันตรึม เรือมลูดอันเร และการบรรเลงประกอบพิธีกรรม ตามความเชื่อทางทางไสยศาสตร์ เช่น โจลมาม็วด บ็องบ็อด ประกอบทั้งเป็นการบรรเลงประโคมในพิธีต่าง ๆ ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล เป็นต้น
     เครื่องดนตรี
      วงมโหรีอีสานใต้ หรือที่เรียกกันอย่างสามัญว่า วงมโหรีเขมรนี้ จะประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังต่อไปนี้
                                                               1. ซอด้วง 1-2 คัน
                                                               2. ซอตรัวเอก 1-2 คัน
                                                               3. กลองกันตรึม 1-2 ใบ
                                                               4. ระนาดเอก 1 ราง
                                                               5. พิณ 1 อัน
                                                               6. ปี่สไล 1 เลา
                                                               7. กลองรำมะนาขนาดใหญ่ 1 ใบ
                                                               8. เครื่องประกอบจังหวะ เช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ
     เครื่องดนตรีดังกล่าวนี้ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ในการจัดวงบางครั้งอาจจะลดหรือเพิ่มเครื่องดนตรีบางชิ้นได้ เช่น พิณ ระนาด แต่เครื่องอื่นๆ ให้คงไว้
     บทขับร้อง
     บทขับร้องในการเล่นมโหรี มีจังหวะที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนมาก มีลักษณะใหล้เคียงกับการเล่นกันตรึม อาไย และกะโน๊บติงต็อง เพราะการละเล่นเหล่านี้ ใช้วงมโหรีเขมรเป็นหลัก ในการบรรเลงจะมีนักร้องทั้งสองฝ่าย (หญิง – ชาย) ร้องโต้ตอบกัน โดยมีการรำประกอบด้วยเนื้อหาที่ขับร้อง มักเป็นบทเกี้ยวพาราสี บทตลกต่างๆ ตามแบบของการละเล่นพื้นบ้านโดยทั่วๆ ไป
     ลักษณะของการบรรเลง
     การบรรเลงของวงมโหรีเขมรนี้ จะเริ่มจากบทไหว้ครูก่อนและบรรเลงสลับการขับร้องพร้อมด้วยการร่ายรำต่างๆ ที่สวยงาม ส่วนการจัดพิธีไหว้ครู มีพิธีแบบเดียวกันกับการเล่นกันตรึม หรือเรือมลูดอันเร โดยใช้เครื่องเช่นสังเวยอย่างเดียวกัน
วงกันตรึม

       ประวัติความเป็นมา
     กันตรึมหรือโจะกันตรึม เป็นดนตรีที่มีความสำคัญและมีบทบาทมากที่สุดแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในปัจจุบันในแถบจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์กำลังเป็นที่นิยม กันตรึมเป็นเครื่องดนตรีที่มีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคนโบราณ ไม่ว่าจะเป็นพิธีแบบใด ดนตรีกันตรึมถูกนำไปใช้บรรเลงประกอบเสมอ เช่น งานแต่งงาน งานบวชนาค งานศพ หรือทางด้านพิธีกรรมเรียกว่า “โจลมาม็วด” ก็ใช้ดนตรีกันตรึมบรรเลงเป็นพื้น เครื่องดนตรีก็มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับงานด้วย
     โอกาสที่แสดง
     การเล่นกันตรึมนั้นมีความสำคัญมาตั้งแต่โบราณ เป็นเครื่องดนตรีที่นิยมว่าไพเราะ เข้าถึงจิตใจของผู้ฟังมากกว่าดนตรีประเภทอื่น ๆ กันตรึมจึงสามารถนำไปเล่นในโอกาสทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นงานมงคลหรืองานอวมงคล รวมถึงการบรรเลงประกอบความเชื่อทางไสยศาสตร์ เช่น การโจลมาม็วด (ก่รทรงเจ้าเข้าผี) บ็องบ็อด เป็นต้น กันตรึมนิยมนำไปเล่นในงานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานโกนจุก งานสมโภชต่าง ๆ งานกฐิน งานผ้าป่า ฯลฯ โยเฉพาะงานแต่งงานแต่โบราณมาถือว่าขาดกันตรึมมิได้ กันตรึมในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบางประการ ทั้งทางเครื่องดนตรีและบทร้อง
      เครื่องดนตรี
                                                               1. กลองกันตรึม (โทน) 2 ใบ
                                                               2. ปี่อ้อ 1 เลา
                                                               3. ซอตรัวเอก (ซออู้) 1 คัน
                                                               4. ขลุ่ย 1 เลา
                                                               5. ฉิ่ง 1 คู่
                                                               6. ฉาบ 1 คู่
วงทุ่มโหม่ง ( ตึมุง )
      ประวัติความเป็นมา
     ทุ่มโหม่ง ภาษถิ่นเรียกว่า ตึมุง เป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงในงานศพโดยเฉพาะ ที่เรียกว่าทุ่มโหม่งหรือตึมุง เพราะตั้งชื่อตามเสียงกลอง ( ทุ่ม-ตึ ) และเสียงฆ้องหุ่ย ( โหม่ง-มุง )
     ลักษณะที่เล่นและโอกาส

ผู้บรรเลงทุ่มโหม่ง จะตั้งเครื่องดนตรีคือ ฆ้องโหม่ง กลองเพล ฆ้องวง ปี่ ใกล้ ๆ กับที่ตั้งศพ และจะเล่นกล่อมศพไปตลอดคืน โอกาสที่เล่น จะบรรเลงตอนตั้งศพบำเพ็ญกุศล และทำบุญ 100 วัน
     เครื่องดนตรี
           1. ปี่ไฉนชนิดเล็ก 1 เลา
           2. กลองเพลขนาดใหญ่ 1 ใบ
           3. ฆ้องหุ่ย 1 ลูก
           4. ฆ้องวง มีลูก 9 ลูก 1 วง
วงเรือมอันเร

     เป็นเครื่องดนตรีประกอบการรำกระทบสากหรือรำกระทบไม้
      เครื่องดนตรี
          1. ไม้สาด 2 คู่ คู่หนึ่งใช้รอง อีกคู่หนึ่งใช้เคาะและกระทบเป็นจังหวะ
          2. ตะโพน 2 ลูก แต่ปัจจุบันนิยมใช้กลองกันตรึม (โทน) แทน
          3. ปี่อ้อ 1 เลา แต่ปัจจุบันนิยมใช้ปี่สไล (ปี่ใน) แทน
          4. อาจเพิ่มเครื่องกำกับจังหวะอย่างอื่นอีก เช่น ฉิ่งและกรับ
วงเรือมมะม็วด

     เป็นการประสมเครื่องดนตรีประกอบการรำแม่มดหรือรำผีฟ้า
     เครื่องดนตรี
          1. ซอ 1 คัน
          2. ปี่อ้อ 1 เลา
          3. ปี่สไล (ปี่ใน) 1 เลา
          4. กลองกันตรึม (โทน) 2 ลูก
          5. ตะโพน 1 ลูก
          6. ฉิ่ง 1 คู่
          7. กรับ 1 คู่
วงระบำกะโน้บติงต๊อง

     เป็นการประสมวงดนตรีประกอบการระบำกะโน้บติงต๊อง หรือระบำตั๊กแตนตำข้าว
     เครื่องดนตรี
          1. กลองกันตรึม (โทน) 2 ลูก (เดิมใช้กลองทัด)
          2. ปี่สไล (ปี่ใน) 1 เลา
          3. ซอตรัวเอก (ซออู้) 1 คัน
          4. ฉิ่ง 1 คู่
          5. กรับ 1 คู่
วงอาไย

     เป็นวงเครื่องดนตรีประกอบการเล่นอาไย ( อาไยคือ การเล่นเบ็ดเตล็ดอย่างหนึ่ง ประกอบการเล่นมโหรี )
     เครื่องดนตรี
          1. ปี่สไล (ปี่ใน) 1 เลา
          2. ซอตรัวเอก (ซออู้) 1 คัน
          3. กลองกันตรึม (โทน) 2 ลูก
          4. เครื่องกำกับจังหวะคือกรับและฉิ่งอย่างละ 1 คู่
วงจเรียง
     เป็นเครื่องดนตรีประกอบการจเรียง นิยมใช้เครื่องดนตรีเพียงชิ้นเดียว
     เครื่องดนตรี
          1. เกนหรือเคน (แคน)
          2. ตรัว (ซอ)
          3. จเปย (กระจับปี่)

กลุ่มวัฒนธรรมโคราช
เพลงโคราช
      เดิมที่นั้นเพลงพื้นบ้านของโคราชมีมากมายหลายชนิด เช่น เพลงกล่อมลูก เพลงกลองยาว เพลงเซิ้งบั้งไฟ เพลงแห่นางแมว เพลงปี่แก้ว (ปี่ซอ) เพลงลากไม้ และเพลงเชิดต่าง ๆ ในยามสงกรานต์ ท่านขุนสุบงกชศึกษากร สันนิษฐานว่า เพลงโคราชเลียนแบบมาจากเพลงฉ่อยของภาคกลาง แต่ใช้คำโคราชบ้าง คำไทยภาคกลางบ้าง ประกอบเป็นเพลงและใช้สำเนียงโคราชจึงเรียกว่า เพลงโคราช
      เพลงโคราชดั้งเดิมเรียกว่า เพลงก้อม จากเพลงก้อมก็พัฒนาเป็นเพลงเอ่ย ( เพลงรำหรือเพลงโรงก็เรียก ) เพลงคู่สี่ เพลงคู่หก เพลงคู่แปด เพลงคู่สิบ และเพลงคู๋สิบสองตามลำดับ แต่เพลงโคราชที่นิยมขับร้องกันในปัจจุบัน ส่วนมากเป็นเพลงคู่แปด แต่ท่านขุนสุบงกชศึกษากรเขียนเอาไว้ว่า เพลงโคราชแบ่งเป็น 5 ปรเภท คือ เพลงขัดอัน เพลงก้อม เพลงหลัก เพลงจังหวะรำ เพลงสมัยปัจจุบัน
     โอกาสในการแสดง
     เพลงโคราชใช้แสดงในงานบุญต่าง ๆ แทบทุกชนิด เช่น งานตัดผมไฟ งานโกนจุก งานบวชนาค งานขึ้นบ้านใหม่ งานทอดกฐิน งานทอดผ้าป่า งานศพ และงานบุญแจกข้าว ยกเว้นงานแต่งงาน เพราะมีความเชื่อว่าแพ้คู่บ่าวสาว ไม่ตายจากันโดยเร็วก็อาจเลิกร้างจากกัน ในปัจจุบันงานที่แสดงเป็นประจำมิได้ขาดคืองานแก้บนที่อนุสาวรีย์ท่านท้าวสุรนารี หรือที่ชาวบ้านเรีกกันทั่วไปว่า งานแก้บนท่านย่าโม ปัจจุบันเพลงโคราชได้รับอิทธิพลเพลงลูกทุ่งและหมอลำเข้าไปด้วยแต่ยังแยกส่วนกันอยู่
    

การประสมวงดนตรีพื้นบ้านอีสานเหนือ


การประสมวงดนตรีพื้นบ้านอีสานเหนือ
     การประสมวงดนตรีตามกลุ้มวัฒนธรรมหมอลำ เป็นกลุ้มวัฒนธรรมแถบอีสานเหนือเป็นส่วนใหญ่ ในสมัยก่อนไม่นิยมประสมวงหรือการบรรเลงด้วยกันจะมีเฉพาะประเภทกลองยาวแลเครื่งดนตรีผู้ไทเท่านั้นส่วนมากนิยมเล่นเครื่องดนตรีต่าง ๆ เป็นเอกเทศหรือเล่นเดียว ต่อมาภายหลังได้มีการประสมวงพิณ วงแคน วงโปงลาง ที่นิยมเล่นในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ส่วนวงดนตรีพื้นบบ้านที่เป็นของชาวบ้านจะมีน้อยมากที่พอมีอยู่บ้างก็คือ วงเพชรพิณทองซึ่งนำมาเล่นร่วมกับวงดนตรีลูกทุ่งจนเป็นที่นิยมแพร่หลาย รายละเอียดของการประสมวงดนตรีพื้นบ้านอีสานมีดังนี้
     1. วงกลองยาว เป็นการประสมวงกลองยาวประกอบด้วยกลองยาวประมาณ 3-4 ใบ กลองรำมะนาใหญ่ ที่ชาวบ้านเรียกว่า กลองตึ้ง 1 ใบ และฉาบ 1 คู่ ตีเป็นทำนองและจังหวะแบบอีสาน ชาวบ้านมักร้องเป็นทำนองว่า “เปิ้ด เป่ง ฮึ้ม เป่ง เปิ้ด เป่ง เป่ง เปิ้ดเป่ง เป่ง เป่ง เปิ้ด ป่ง ฮึ่ม” กลองยาวมักนิยมใช้ประกอบขบวนแห่ตามงานบุญต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแห่กันหลอนในงานบุญพระเวสฯ


     2. วงแคน ประกอบด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานโดยมีแคนเป็นหลักจะมีจำนวนสักกี่เต้าก็ได้ นอกจากนั้นมีเครื่องดนตรีเสริมด้วย เช่น พิณ ซอ ฉิ่ง ไหซอง และกลองตามที่เห็นสมควรในแต่ละท้องถิ่น


     3. วงพิณ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานที่มีพิณเป็นหลักจะมีกี่ตัวก็ได้ นอกจากนั้นก็มีเครื่องดนตรีประกอบเสริม เช่น แคน ซอ ฉิ่งและกลอง

     4. วงโปงลาง ประกอบด้วยวงดนตรอีสานที่มีโปงลางเป็นหลักโดยจะมีโปงลางกี่ผืนก็ได้ นอกจากนั้นมีเครื่องดนตรีเสริม เช่น พิณ แคน ซอ ฉิ่ง กลอง เป็นต้น


     5. วงลำเพลิน ประกอบด้วยแคนและกลองชุด


     6. วงลำซิ่ง ประกอบด้วยแคนและกลองชุด


นาฏศิลป์พื้นเมืองอีสานเหนือ
      การร่ายรำแบบชาวบ้านหรือเรียกกันตามท้องถิ่นว่า “ฟ้อน” นั้นมีหลายชนิดแต่ละชนิดมีลักษณะประจำของมันเอง เช่น ลักษณะการก้าวเท้า สวมเล็บ ยกเท้าสูง กระตุกส้น ย่อตัว ฯลฯ ท่ารำต่าง ๆ เลียนแบบอากัปกิรอยาที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันแล้วนำมาประดิษฐ์ให้สวยงามและมีศิลปยิ่งขึ้น ชนิดของการร่ายรำพื้นเมืองของอีสานเหนือที่ปฏิบัติกันอยู่มีดังนี้
      หมอลำ

          การร่ายรำของหมอลำ 
     หมอลำหมายถึงนักร้องเพลงพื้นเมืองอีสาน การลำก็คือการร้องเพลงพื้นเมืองนั้นเอง การลำมีอยู่หลายทำนอง เช่น ทำนองลำสั้นหรือลำกลอน ลำยาวหรือลำล่องของ (ล่งโขง) หรือลำล่อง ลำเต้ย ลำเพลิน การแสดงของหมอลำแต่ละครั้งจะประกอบด้วยทำนองเหล่านี้ และบางขั้นตอนหมอลำจะลำพร้อมกับร่ายรำไปด้วย เช่น
           ลำกลอนเกี้ยว 
     เป็นการลำทั่วไประหว่างหมอลำชายกับหมอลำหญิง เป็นการทดสอบความรู้ของอีกฝ่าย
          ลำเต้ย 
     มีทำนองการลำโดยเฉพาะใช้ในการเกี้ยวพาราสีระหว่างหมอลำชายกับหมอลำหญิงด้วยคารมกลอน
            หมอลำหมู่ 
      การลำหมู่เป็นการแสดงหลายคน แสดงเป็นเรื่องราวคล้ายลิเก ผู้แสดงแต่งตัวแต่งกายให้เหมาะสมกับฐานะตามท้องเรื่อง เรื่องที่นำมาแสดงได้จากนิทานหรือ วรรณคดีพื้นเมืองอีสาน ตัวแสดงที่สำคัญจะฟ้อนรำท่าทีอ่อนช้อยสวยงาม สว่นตัวตลกมักใช้ท่าทางที่ชวนขบขัน
      ดนตรีที่ใช้ประกอบ 
      คือ แคน พิณ ฉิ่ง ฉาบ และกลอง
       เซิ้ง 


      การเซิ้งเป็นการเลียนแบบชีวิตประจำวันมีหลายอย่างและมีผู้คิดประดิษฐ์เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่อยู่เสมอ เช่น เซิ้งสวิง (เครื่องมือจับปลา) เซิ้งกระติบข้าว เซิ้งสาวไหม การเซิ้งเป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสานเหนือ งานเทศกาลทหรสพคบงันต่าง ๆ ถ้าขาดเซิ้งไปจะทำให้บรรยายกาศของงานกร่อยไปมากที่เดียว
      ดนตรีที่ใช้ประกอบ
      วงดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบเป็นวงผสม มีแคน พิณ ซอ และเครื่องประกอบจังหวะต่าง ๆ เช่น กลองยาว ฉิ่ง ฉาบ ฆ้อง และกรับ โดยเฉพาะกลองยาวจะใช้หลายใบเพื่อเน้นจังหวะและความครึ้กครื้น สนุกสนาน
       ฟ้อนผู้ไทยหรือภูไท


      การฟ้อนผู้ไทยใช้จังหวะช้าเพื่อแสดงออกถึงความสวยงาม ความอ่อนช้อยละมุนละไม ช้ากว่าจังหวะเซิ้งซึ่งจัดเป็นประเภทรำอีกหนึ่งเท่าตัว กล่าวคือผู้ฟ้อนผู้ไทนก้าวไปหนึ่งก้าว เซิ้งจะรำไปได้สองก้าว หรือถ้าเปรียบเทียบกับจังหวะดนตรี ฟ้อนผู้ไทยก้าวเท้าตามโน๊ตตัวดำ เซิ้งก้าวเท้าตามจังหวะตัวเขบ็ตหนึ่งชั้น
      ดนตรีที่ใช้ประกอบ
เป็นวงดนตรีพื้นเมืองผสม ประกอบด้วยแคน ซอ และเครื่องจังหวะต่าง ๆ
       แสกเต้นสาก


      เต้นสากเป็นการรำกระทบไม้ แสกเต้นสาก หมายถึง การรำกระทบไม้ของชาวแสกและกระทำอยู่ในกลุ่มตน การเต้นสากเป็นการเต้นประกอบการร่ายรำตามจังหวะกระทบของไม้ไผ่หลายคู่ คนเต้น 4 คน คนกระทบเรียกว่าสากคู่ละ 2 คน หากใช้ไม้สาก 6 คู่ ก็จะต้องใช้คนกระทบไม้จำนวน 12 คน คนตีกลองหนึ่งคน และตีฉิ่งอีกหนึ่งคน
      ดนตรีที่ใช้ประกอบ 
     กลอง ฉิ่ง
 ฟ้อนผีฟ้าหรือผีหมอ

     ผีฟ้าหรือผีหมอเป็นความเชื่อของชาวพื้นเมืองอีสานเกี่ยวกับเรื่องวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วที่ต้องการที่ยึดที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ผู้ที่วิญญาณต้องการอยู่ด้วยมักเป็นญาติ และสามารถรู้ได้โดยที่ตนเองล้มป่วยลง เมื่อไปหาหมอทางไสยศาสตร์และพบว่าเป็นวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วอยากมาอยู่ด้วยการฟ้อนผีฟ้าหรือผีหมอเป็นการฟ้อนที่ไม่มีระเบียบแบบแผนหรือใช้หลักทางนาฏศิลป์แต่อย่างไร การเคลื่อนไหวเป็นไปตามจังหวะกลองและดนตรี
     ดนตรีที่ใช้ประกอบ 
      แคน พิณ ฆ้อง ฉาบ กลอง บรรเลงประกอบไปด้วย
      
 หนังตะลุงอีสาน


ในปี พ.ศ. 2467 มีหลักฐานว่าหนังตะลุงอีสานเลียนแบบจากหนังตะลุงคณะที่ไปจากพระนครศีรอยุธยาเรียกได้หลายชื่อ เช่น หนังปราโมทัย หรือหนังบักตื้อ หนังบักป่อง เรื่องที่นิยมเล่นกันมาก คือ รามเกียรติ์ จำปาสี่ต้น นางแตงอ่อน ศิลป์ชัย ตัวหนังตะลุงจะเป็นของคนในภาคอีสาน ยกเว้นเรื่องรามเกียรติ์ กรแสดงเป็นแบบหมอลำ ส่วนบทเจรจาใช้ภาษาท้องถิ่น
      ดนตรีที่ใช้ประกอบ พิณ แคน ซอ โหวด กลอง ฉาบ ฉิ่ง

เครื่องดนตรีอีสานใต้


เครื่องดนตรีประเภทตี
      กลองกันตรึม
     กลองกันตรึม เป็นกลองขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายโทนทางภาคกลาง แต่มีความยาวมากกว่า ตัวกลองทำจากแก่นไม้ขนุนหรือลำต้นของต้นมะพร้าวก็ใช้ทำได้ แต่แก่ไม้ขนุนเป็นที่นิยมมากกว่า เพราะทำให้เสียงดังกังวาน การทำใช้วิธีกลึงภายนอกให้เป็นรูปกลอง และขุดภายในให้กลวง โดยให้มีความหนาของตัวกลองประมาณ 1 นิ้ว พร้อมทั้งตบแต่งผิวภายนอกให้เรียบและขัดเงา
      การขึงหนังกลอง หนังที่นิยมใช้คือหนังของลูกวัว หนังงูเหลือม หนังตะกวด แต่ที่นิยมกันมาก คือ หนังลูกวัว ที่นำมาฟอกโดยการแช่ในน้ำเกลือ แล้วตำให้หนังบาง เมือหนังบางจนได้ที่ดีแล้ว ก็นำไปขึงตึงบนหน้ากลองในขณะที่หนังยังเปียกอยู่การขึงหนังกลองใช้วิธีเจาะรูโดยรอบ ร้อยเชือกสลับยึดที่เอวกลอง (ส่วนที่คอดขึงตัวกลอง) โดยใช้ลวดแข็งขนาดใหญ่เป็นที่สาวเชือกเพื่อให้หนังกลองตึง เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ กลองกันตรึมนี้ เป็นกลองที่ไม่มีไส้ละมาน
      ขนาดของกลอง กลองกันตรึมที่ใช้โดยทั่วไป จะมี 2 ลูก เรียกว่าตัวผู้และตัวเมีย ซึ่งทั้งคู่มีขนาดเท่ากัน เรียกชื่อแตกต่างกันที่ระดับเสียงทุ้ม แหลมที่เกิดจากการขึงหนังกลองให้ตึงมากน้อยแตกต่างกันเท่านั้น


      กลองตุ้ม,ตี
      กลองสองหน้าขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 60 เซนติเมตร ยาว 70-75 เซนติเมตร ขึงหน้าสองหน้าด้วยหนังวัว ตรึงด้วยหมุด ตัวกลองทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ใช้แขวนตีด้วยไม้เช่นเดียวกับกลองทัดและกลองเพล (ภาคกลาง)
     กลองตุ้ม เป็นกลองที่ตีให้สัญญาณตามวัดมาช้านานแล้ว ชาวอีสานใต้นำมาประสมวงตุ้มโมงไม่ทราบว่าแต่ครั้งใด
     การเทียบเสียง แล้วแต่ขนาดของกลอง แต่ตามปกติจะมีเสียงดังสะท้านกังวาลไปไกลมาก


      สากไม้
     โดยปกติใช้ตำข้าว แต่นำมาใช้เป็นเครื่องประกอบจังหวะและประกอบการเล่น “เรือมอันเร” (ลาวกระทบไม้และม้าจกคอกของพายัพ) สากคู่หนึ่งยาวประมาณ 2 เมตร วางไว้บนอีกคู่หนึ่งประมาณ 1 เมตร สากทั้งสองคู่นี้นิยมทำด้วยไม้แทน เวลาเล่นใช้คน 2 คน จับสากคู่บน (คนละข้าง) กระทบกันและกระทบลงบนสากที่รองข้างล่างเป็นจังหวะ
     การเทียบเสียง ใช้กระทบเป็นจังหวะเท่านั้น
     ฆ้องราว
ตัวฆ้องทำด้วยโลหะหล่อขนาดต่าง ๆ กันจำนวน 9 ลูก ผูกด้วยเชือกหนังแขวนไว้กับราวที่ทำด้วยหวายเป็นรูปสี่เหลี่ยมยาว ๆ คล้ายราง ตีด้วยไม้
     การเทียบเสียง ไม่มีการเทียบเสียง แลัวแต่ขนาดของลูกฆ้องเรียงจากลูกใหญ่อยู่ด้านซ้ายมือไปหาลูกเล็กทางขวามือ เวลาตีตีเรียงกันไปทีละลูก จากซ้ายไปขวาไม่มีทำนอง



เครื่องดนตรีประเภทสี
       ซอกันตรึม
     ซอกันตรึมเป็นซอที่มีลักษณะคล้ายกันกับซออู้ แตกต่างกันเพียงตรงที่ กะโหลกซอกันตรึมจะใหญ่กว่า ซอกันตรึมที่มีเสียงสูง และมีลักษณะคล้ายซอด้วงจะเรียกกันว่า “ซอตรัวเอก” (ตรัวแปลว่าซอ) แต่ถ้าซอกันตรึมที่มีระดับเสียงทุ้มต่ำคล้ายซออู้ และกะโหลกทำด้วยกระลามะพร้าว เรียกว่าซออู้เหมือนกัน ซอกันตรึมทั้งสองนี้ มีระดับเสียงสูงกว่าระดับเสียงของซออู้และซ้อด้วงธรรมดา สายละ 1 เสียงเต็ม กล่าวคือ ทั้งคู่ขึ้นเสียงตามปี่ใน
      กะโหลกของซอตรัวเอก ทำจากไม้เนื้อแข็ง กว้านให้กลวงโดยเหลือความหนาเฉลี่ยโดยประมาณ 0.5 นิ้ว ขึงหนังด้านหนึ่งด้วยหนังตะกวด หรือหนังลูกวัวบางๆ และมีรูสำหรับสอดใส่คัดทวน ปลายคันคันทวนมีลูกบิดสองลูก สำหรับขึงสาย ส่วนสายนั้นทำด้วยลวดเหนียว โดยมากที่พบเห็นมักใช้ลวดจากสายเบรครถจักรยาน ขนาดของซอกันตรึม มักจะไม่เป็นมาตรฐานที่แน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับฝีมือและความพอใจของผู้ประดิษฐ์


       ตรัวอู้
      เครื่องสายใช้สี กล่องเสียงทำด้วยกระโหลกมะพร้าว ฝานออกด้านหนึ่งหุ้มด้วยหนัง ด้านตรงข้ามเป็นกล่องเสียง คันซอทำด้วยไม้ สายทำด้วยลวด คันชักอยู่ระหว่างสาย มีเล่นกันในท้องถิ่นมาช้านานแล้ว
     การเทียบเสียง ขึ้นคู่ 5 โด-ซอล
      ซอกระดองเต่าและซอเขาควาย
      เครื่องสายชนิดหนึ่งใช้คันชักสี คันชักอยู่ระหว่างสายลวด ตัวกล่องเสียงด้วยกระดองเต่าตัดส่วนหน้าออกขึงด้วยหนังงู คันซอทำด้วยไม้ยาวประมาณ 40 เซนติเมตร มีลูกบิดขึงสาย 2 อัน อยู่ตอนบนของคันซอ ขนาดที่ทำแตกต่างกันไปแล้วแต่ความต้องการ
อีกชนิหนึ่งใช้เขาควายตัดตามขนาดที่ต้องการขึงหน้าด้านหนึ่ง
      การเทียบเสียง ขึ้นคู่ 4 ระหว่างสายทั้งสองเส้น เทียบเสียงเข้ากับเครื่องดนตรีอื่น ๆ เวลาเล่นประสมวง

เครื่องดนตรีประเภทเป่า
      ปี่อ้อ (แป็ยออ)

ปี่อ้อ เป็นปี่ที่มีลักษณะแปลกไปจากปี่โดยทั่วๆไปที่ใช้อยู่ในวงดนตรีต่างๆ ของไทยคือ ลำตัวและลิ้นแบ่งส่วนออกจากกัน และทำด้วยไม้อ้อ ส่วนที่เป็นลิ้นจะถูกเหลาให้บางและบีบให้แบนประกบกันในลักษณะของลิ้นแฝด แต่อีกด้านหนึ่งยังมีลักษณะกลมอยู่เพื่อสอดเข้ากับตัวปี่ ที่ปลายลิ้นมีไม้ไผ่เหลาแบนเล็ก ๆ 2 อันบีบ ประกบลิ้นเพื่อให้ลิ้นแบนและเป็นที่จรดเม้มปากอีกด้วย ส่วนลำตัวของปี่ เจาะรู 7 รู สำเนียงของปี่อ้อจะทุ่มมีกังกวานแหบต่ำ ฟังดูลึกลับไม่เบิกบาน แต่แฝงไว้ด้วยอำนาจ ชาวจังหวัดสุรินทร์พื้นเมืองเดิมรู้จักปี่อ้อมานาน หาผู้เป่าได้ยากมาก
      ปี่เตรียง หรือ ปี่เญ็น
     ปี่ชนิดนี้ มีลักษณะที่แปลกไม่เคยพบเห็นในท้องที่อื่นนอกจากแถบจังหวัดสุรินทร์ ตัวปี่และลิ้นอยู่รวมกันโดยไม้ไผ่ขนาดเท่าขลุ่ยเพียงออ แต่ไม่กลวงตลอด ปลายท่อด้านลิ้นจะปิด จัดเป็นเครื่องลมไม้ชนิดท่อปลายปิด ส่วนปลายปิดนี้จะเป็นส่วนของลิ้นโดยใช้มีดปาดเฉลียงแบบล้นเดียว ปี่ชนิดนี้หาดูยากมาก
     ส่วนที่เป็นลิ้น เกิดจากการถูกบีบปลายท่อ และปาดให้เป็นมุม โดยมีความบางพอที่จะเกิดความสั่นสะเทือนได้ เมื่อเป่าล้มผ่านลงไป
      ปี่เขาควาย


     เป็นปี่ที่ทำมาจากเขาสัตว์ กลลุ่มวัฒนธรรมกันตรึมเรียกว่า ปี่สไนง์หรือสแนง เป็นปี่ชนิดที่ทำมาจากเขาควายโดยเจาช่องเป็นด้านยอดของเขาควายใส่ลิ้นอย่างเดียวกับแคน ผนึกด้วยขี้สูดให้สนิทใช้เชือกผูกปลายเขาทั้งสองข้าง แขวนคอแล้วเป่าโดยใช้อุ้มมือขวาเปิดปิดเพื่อควบคุมระดับเสียง ได้ประมาณ 3 เสียงนิยมเป่าประกอบเซิ้งบั้งไฟหรือขบวนแห่ต่าง ๆ สำหรับพวกส่วยหรือกุยมีอาชีพคล้องข้าวในแถบจังหวัดสุรินทร์นิยมใช้สไนง์
      ปี่ไฉน,ปี่สไน,ปี่เน


     ปี่ไฉนเป็นปี่ลิ้นคู่ ลิ้นปี่ทำด้วยใบตาลสวมต่อกับเลาปี่ที่ทำด้วยไม้ ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีรูบังคับเสียง 6 รู และรูหัวแม่มืออีก 1 รู ตรงปลายเลาปี่ทำเป็นปากลำโพง ขนาดประมาณ 5-7 เซนติเมตร คล้ายปี่ไฉนภาคกลาง และปี่ไฉนภาคใต้ มีหลักฐานว่าปี่ไฉนมีใช้มาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในภาคอีสานมีมาช้านานแล้ว
      การเทียบเสียง เป็นระบบ 5 เสียง

เครื่องดนตรีประเภทดีด
     พิณกระแสเดียวหรือกระแสมุย แปลว่า พิณเสียงเดียวหรือพิณสายเดียว
     กระโหลกพิณทำด้วยลูกน้ำเต้าแก่จัดตากให้แห้ง ตัดครึ่งด้านยาวของผลและแกะเมล็ดในออกและเยื่อออกให้หมดใช้หมายขันชะเนาะกระโหลกน้ำเต้า ให้ติดกับโคนของพิณลูกบิดอยู่ในสุดของคันพิณ ขึงโยงด้วยสายโลหะจากลูกบิดสอดหวายที่ขันชะเนาะอยู่ไปผูกกับปลายคันพิณตอนปลายสุด มีลักษณะงอนเป็นรูปพญานาคชูหัว ชาวไทยภาคกลางเรียกว่า พิณน้ำเต้า
      พิณน้ำเต้า

     พิณสายเดียวทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ยาวประมาณ 75 เซนติเมตร ปลายข้างหนึ่งทำด้วยโลหะหล่อเป็นลวดลายสำหรับขึงสายสวมติดไว้ ด้านตรงข้ามมีลูกบิด ทำด้วยไม้เนื้อแข็งสอดไว้ กล่องเสียงทำด้วยผลน้ำเต้ามีเชือกรัดสายพิณ ซึ่งทำด้วยโลหะให้คอดตรงบริเวณใกล้กล่องเสียง ใช้บรรเลงด้วยการดีดดัวยนิ้วมือ เวลาบรรเลงจะใช้กล่องเสียงประกบกับอวัยวะร่างกาย เช่นหน้า อก หรือท้อง มีเสียงเบามากสามารถทำหางเสียง ( Harmonic ) ได้ด้วย พิณน้ำเต้าเป็นเครื่องดีดที่เก่าแก่มากชิ้นหนึ่ง มีเล่นกันมาหลายร้อยปีแล้ว ไม่อาจระบุระยะเวลาได้
     การเทียบเสียง ไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัว แล้วแต่ผู้บรรเลงจะพอใจเพราะใช้บรรเลงโดยเอกเทศ
       จาเปยหรือกระจับปี่


      มีลักษณะคล้าย ซึง มีสายคู่ซึ่งสายแต่ละคู่ตั้งเสียงให้เท่ากัน คันพิณทำด้วยไม้เนื้อแข็งส่วนกล่องเสียงมักทำด้วยไม้ขนุน หรือไม้สักที่ส่วนปลายสุดของคัณพิณมี 4 รู เพื่อใส่ลูกบิดและร้อยสายที่คันพิณจะมีที่วางนิ้ว ซึ่งมีระดับเสียงต่าง ๆ กัน มีสาย 2-4สาย
       อังกุ๊ยจ์
     เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด ชาวไทยภาคกลางเรียกว่า จ้องหน่อง ชาวอีสานเรียก หุนหึน ทำด้วยไม้ไผ่เวลาเป่าจะสอดไว้ในปาก