วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การประสมวงดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้


วงมโหรีอีสานใต้
      ประวัติความเป็นมา
     เป็นการละเล่นประกอบดนตรีที่ได้รับการสืบทอดมาแต่โบราณ และนับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นที่นิยมอย่างมาก และถือได้ว่าเป็นวงดนตรีที่เป็นพื้นฐานในการละเล่นอย่างอื่น ๆ เช่น อาไย กะโนบติงต็อง กันตรึม เรือมลูดอันเร และการบรรเลงประกอบพิธีกรรม ตามความเชื่อทางทางไสยศาสตร์ เช่น โจลมาม็วด บ็องบ็อด ประกอบทั้งเป็นการบรรเลงประโคมในพิธีต่าง ๆ ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล เป็นต้น
     เครื่องดนตรี
      วงมโหรีอีสานใต้ หรือที่เรียกกันอย่างสามัญว่า วงมโหรีเขมรนี้ จะประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังต่อไปนี้
                                                               1. ซอด้วง 1-2 คัน
                                                               2. ซอตรัวเอก 1-2 คัน
                                                               3. กลองกันตรึม 1-2 ใบ
                                                               4. ระนาดเอก 1 ราง
                                                               5. พิณ 1 อัน
                                                               6. ปี่สไล 1 เลา
                                                               7. กลองรำมะนาขนาดใหญ่ 1 ใบ
                                                               8. เครื่องประกอบจังหวะ เช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ
     เครื่องดนตรีดังกล่าวนี้ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ในการจัดวงบางครั้งอาจจะลดหรือเพิ่มเครื่องดนตรีบางชิ้นได้ เช่น พิณ ระนาด แต่เครื่องอื่นๆ ให้คงไว้
     บทขับร้อง
     บทขับร้องในการเล่นมโหรี มีจังหวะที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนมาก มีลักษณะใหล้เคียงกับการเล่นกันตรึม อาไย และกะโน๊บติงต็อง เพราะการละเล่นเหล่านี้ ใช้วงมโหรีเขมรเป็นหลัก ในการบรรเลงจะมีนักร้องทั้งสองฝ่าย (หญิง – ชาย) ร้องโต้ตอบกัน โดยมีการรำประกอบด้วยเนื้อหาที่ขับร้อง มักเป็นบทเกี้ยวพาราสี บทตลกต่างๆ ตามแบบของการละเล่นพื้นบ้านโดยทั่วๆ ไป
     ลักษณะของการบรรเลง
     การบรรเลงของวงมโหรีเขมรนี้ จะเริ่มจากบทไหว้ครูก่อนและบรรเลงสลับการขับร้องพร้อมด้วยการร่ายรำต่างๆ ที่สวยงาม ส่วนการจัดพิธีไหว้ครู มีพิธีแบบเดียวกันกับการเล่นกันตรึม หรือเรือมลูดอันเร โดยใช้เครื่องเช่นสังเวยอย่างเดียวกัน
วงกันตรึม

       ประวัติความเป็นมา
     กันตรึมหรือโจะกันตรึม เป็นดนตรีที่มีความสำคัญและมีบทบาทมากที่สุดแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในปัจจุบันในแถบจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์กำลังเป็นที่นิยม กันตรึมเป็นเครื่องดนตรีที่มีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคนโบราณ ไม่ว่าจะเป็นพิธีแบบใด ดนตรีกันตรึมถูกนำไปใช้บรรเลงประกอบเสมอ เช่น งานแต่งงาน งานบวชนาค งานศพ หรือทางด้านพิธีกรรมเรียกว่า “โจลมาม็วด” ก็ใช้ดนตรีกันตรึมบรรเลงเป็นพื้น เครื่องดนตรีก็มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับงานด้วย
     โอกาสที่แสดง
     การเล่นกันตรึมนั้นมีความสำคัญมาตั้งแต่โบราณ เป็นเครื่องดนตรีที่นิยมว่าไพเราะ เข้าถึงจิตใจของผู้ฟังมากกว่าดนตรีประเภทอื่น ๆ กันตรึมจึงสามารถนำไปเล่นในโอกาสทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นงานมงคลหรืองานอวมงคล รวมถึงการบรรเลงประกอบความเชื่อทางไสยศาสตร์ เช่น การโจลมาม็วด (ก่รทรงเจ้าเข้าผี) บ็องบ็อด เป็นต้น กันตรึมนิยมนำไปเล่นในงานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานโกนจุก งานสมโภชต่าง ๆ งานกฐิน งานผ้าป่า ฯลฯ โยเฉพาะงานแต่งงานแต่โบราณมาถือว่าขาดกันตรึมมิได้ กันตรึมในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบางประการ ทั้งทางเครื่องดนตรีและบทร้อง
      เครื่องดนตรี
                                                               1. กลองกันตรึม (โทน) 2 ใบ
                                                               2. ปี่อ้อ 1 เลา
                                                               3. ซอตรัวเอก (ซออู้) 1 คัน
                                                               4. ขลุ่ย 1 เลา
                                                               5. ฉิ่ง 1 คู่
                                                               6. ฉาบ 1 คู่
วงทุ่มโหม่ง ( ตึมุง )
      ประวัติความเป็นมา
     ทุ่มโหม่ง ภาษถิ่นเรียกว่า ตึมุง เป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงในงานศพโดยเฉพาะ ที่เรียกว่าทุ่มโหม่งหรือตึมุง เพราะตั้งชื่อตามเสียงกลอง ( ทุ่ม-ตึ ) และเสียงฆ้องหุ่ย ( โหม่ง-มุง )
     ลักษณะที่เล่นและโอกาส

ผู้บรรเลงทุ่มโหม่ง จะตั้งเครื่องดนตรีคือ ฆ้องโหม่ง กลองเพล ฆ้องวง ปี่ ใกล้ ๆ กับที่ตั้งศพ และจะเล่นกล่อมศพไปตลอดคืน โอกาสที่เล่น จะบรรเลงตอนตั้งศพบำเพ็ญกุศล และทำบุญ 100 วัน
     เครื่องดนตรี
           1. ปี่ไฉนชนิดเล็ก 1 เลา
           2. กลองเพลขนาดใหญ่ 1 ใบ
           3. ฆ้องหุ่ย 1 ลูก
           4. ฆ้องวง มีลูก 9 ลูก 1 วง
วงเรือมอันเร

     เป็นเครื่องดนตรีประกอบการรำกระทบสากหรือรำกระทบไม้
      เครื่องดนตรี
          1. ไม้สาด 2 คู่ คู่หนึ่งใช้รอง อีกคู่หนึ่งใช้เคาะและกระทบเป็นจังหวะ
          2. ตะโพน 2 ลูก แต่ปัจจุบันนิยมใช้กลองกันตรึม (โทน) แทน
          3. ปี่อ้อ 1 เลา แต่ปัจจุบันนิยมใช้ปี่สไล (ปี่ใน) แทน
          4. อาจเพิ่มเครื่องกำกับจังหวะอย่างอื่นอีก เช่น ฉิ่งและกรับ
วงเรือมมะม็วด

     เป็นการประสมเครื่องดนตรีประกอบการรำแม่มดหรือรำผีฟ้า
     เครื่องดนตรี
          1. ซอ 1 คัน
          2. ปี่อ้อ 1 เลา
          3. ปี่สไล (ปี่ใน) 1 เลา
          4. กลองกันตรึม (โทน) 2 ลูก
          5. ตะโพน 1 ลูก
          6. ฉิ่ง 1 คู่
          7. กรับ 1 คู่
วงระบำกะโน้บติงต๊อง

     เป็นการประสมวงดนตรีประกอบการระบำกะโน้บติงต๊อง หรือระบำตั๊กแตนตำข้าว
     เครื่องดนตรี
          1. กลองกันตรึม (โทน) 2 ลูก (เดิมใช้กลองทัด)
          2. ปี่สไล (ปี่ใน) 1 เลา
          3. ซอตรัวเอก (ซออู้) 1 คัน
          4. ฉิ่ง 1 คู่
          5. กรับ 1 คู่
วงอาไย

     เป็นวงเครื่องดนตรีประกอบการเล่นอาไย ( อาไยคือ การเล่นเบ็ดเตล็ดอย่างหนึ่ง ประกอบการเล่นมโหรี )
     เครื่องดนตรี
          1. ปี่สไล (ปี่ใน) 1 เลา
          2. ซอตรัวเอก (ซออู้) 1 คัน
          3. กลองกันตรึม (โทน) 2 ลูก
          4. เครื่องกำกับจังหวะคือกรับและฉิ่งอย่างละ 1 คู่
วงจเรียง
     เป็นเครื่องดนตรีประกอบการจเรียง นิยมใช้เครื่องดนตรีเพียงชิ้นเดียว
     เครื่องดนตรี
          1. เกนหรือเคน (แคน)
          2. ตรัว (ซอ)
          3. จเปย (กระจับปี่)

กลุ่มวัฒนธรรมโคราช
เพลงโคราช
      เดิมที่นั้นเพลงพื้นบ้านของโคราชมีมากมายหลายชนิด เช่น เพลงกล่อมลูก เพลงกลองยาว เพลงเซิ้งบั้งไฟ เพลงแห่นางแมว เพลงปี่แก้ว (ปี่ซอ) เพลงลากไม้ และเพลงเชิดต่าง ๆ ในยามสงกรานต์ ท่านขุนสุบงกชศึกษากร สันนิษฐานว่า เพลงโคราชเลียนแบบมาจากเพลงฉ่อยของภาคกลาง แต่ใช้คำโคราชบ้าง คำไทยภาคกลางบ้าง ประกอบเป็นเพลงและใช้สำเนียงโคราชจึงเรียกว่า เพลงโคราช
      เพลงโคราชดั้งเดิมเรียกว่า เพลงก้อม จากเพลงก้อมก็พัฒนาเป็นเพลงเอ่ย ( เพลงรำหรือเพลงโรงก็เรียก ) เพลงคู่สี่ เพลงคู่หก เพลงคู่แปด เพลงคู่สิบ และเพลงคู๋สิบสองตามลำดับ แต่เพลงโคราชที่นิยมขับร้องกันในปัจจุบัน ส่วนมากเป็นเพลงคู่แปด แต่ท่านขุนสุบงกชศึกษากรเขียนเอาไว้ว่า เพลงโคราชแบ่งเป็น 5 ปรเภท คือ เพลงขัดอัน เพลงก้อม เพลงหลัก เพลงจังหวะรำ เพลงสมัยปัจจุบัน
     โอกาสในการแสดง
     เพลงโคราชใช้แสดงในงานบุญต่าง ๆ แทบทุกชนิด เช่น งานตัดผมไฟ งานโกนจุก งานบวชนาค งานขึ้นบ้านใหม่ งานทอดกฐิน งานทอดผ้าป่า งานศพ และงานบุญแจกข้าว ยกเว้นงานแต่งงาน เพราะมีความเชื่อว่าแพ้คู่บ่าวสาว ไม่ตายจากันโดยเร็วก็อาจเลิกร้างจากกัน ในปัจจุบันงานที่แสดงเป็นประจำมิได้ขาดคืองานแก้บนที่อนุสาวรีย์ท่านท้าวสุรนารี หรือที่ชาวบ้านเรีกกันทั่วไปว่า งานแก้บนท่านย่าโม ปัจจุบันเพลงโคราชได้รับอิทธิพลเพลงลูกทุ่งและหมอลำเข้าไปด้วยแต่ยังแยกส่วนกันอยู่
    

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอความกรุณาแก้ไขภาพ ใต้คำวงเรือมอันเร ครับ ภาพนั้นคือภาพการฟ้อนกลองตุ้ม (ภาพการประกวดฟ้อนกลองตุ้ม ที่ มมส.)

    ตอบลบ